วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ

1.ระยะไข่ตก (Ovulation) ได้แก่ ระยะ 2 สัปดาห์แรก ปกติเดือนหนึ่งจะมีไข่ตกเพียง 1ฟองโดยประมาณช่วงกลางของรอบเดือน (วันที่ 12-16) ไข่จะเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในท่อนำไข่ (ส่วนโป่ง) ถ้ามีการร่วมเพศในระยะนั้น อสุจิตัวหนึ่งจากจำนวนหลายล้านตัว จะเข้าผสมกับไข่ แล้วจะเข้าสู่ระยะ Cleavage (Cleavage stage : ระยะแรกของการแบ่งตัวของตัวอ่อน) มีการแบ่งตัวจาก Zygote แบบทวีคูณจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 จาก 8 เป็น 16 เป็นต้นโดยที่ขนาดโดยรวมเท่าเดิม เมื่อมีจำนวนเซลล์เพิ่มขึ้น จะโตเป็นก้อนดูคล้ายผลน้อยหน่า ระยะนี้เรียกว่า ระยะมอรูลาร์ (Morular) แล้วผ่านเข้าสู่ระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) ซึ่งเป็นระยะที่ไข่ผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกและฝังตัว ตำแหน่งที่ไข่ฝังตัวนี้จะกลายเป็นรกในเวลาต่อมา เพื่อเป็นสื่อนำอาหารจากมารดามาเลี้ยงทารกในขณะเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์




Blastocyst แบ่งเป็น 2 แบบคือ

1. Trophoblast --> จะเจริญไปเป็นรก (Placenta)

2. Inner cell mass --> จะเจริญไปเป็นตัวอ่อน



จากนั้นจะเข้าสู่ระยะ Gastrulation ซึ่งจะมีการสร้างเนื้อเยื่อ 3 ชั้นคือ เนื้อเยื่อชั้นนอก (Ectoderm)เนื้อเยื่อชั้นกลาง (Mesoderm) เนื้อเยื่อชั้นใน (Endoderm)





รูปที่ 1 แสดง Cleavage stage




รูปที่ 2 แสดง Blastocyst





รูปที่ 3 ภาพแสดงระยะ Gastrulation



2.ระยะคัพภะ (Embryo) ได้แก่ ระยะตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3-7 หรือ 8 เป็นระยะที่มีการสร้างอวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย (Organogenesis) เช่น หัวใจ ตา หู ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ แขน ขา เป็นต้น ระยะนี้เป็นระยะที่มีอันตรายมากที่สุดสำหรับการติดเชื้อหรือการกินยาบางอย่าง เพราะอาจทำให้เด็กที่เกิดมานั้นพิการได้



รูปที่ 4 แสดงระยะ Organogenesis ซึ่งเจริญไปเป็นอวัยวะต่างๆ



3. ระยะตัวอ่อน (Fetus) ได้แก่ ระยะตั้งแต่สัปดาห์ 7 หรือ 8-40 เป็นระยะของการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ ที่เริ่มสร้างขึ้นในระยะคัพภะเพื่อที่จะให้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อตัวอ่อนคลอดมาเป็นทารก เช่น ระบบประสาท ระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ในระยะตัวอ่อนนี้ เมื่ออายุครรภ์ครบ 28 สัปดาห์ ทารกจะยาวประมาณ 35 เซนติเมตร

น้ำหนักประมาณ 1,000 กรัม ผิวหนังแดงเรื่อแต่เหี่ยวย่นคล้ายผิวคนแก่ มีไข่เคลือบทั่วอวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานได้ถ้าทารกคลอดในระยะนี้ อาจมีชีวิตอยู่ได้ในความดูแลของกุมารแพทย์ที่มีเครื่องมือเครื่องใช้พร้อม เมื่ออายุครรภ์ครบ 32 สัปดาห์ ทารกจะยาวประมาณ 40 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1,600-2,000 กรัม เริ่มมีไขมันใต้ผิวหนัง ถ้าเป็นเพศชายอัณฑะจะเคลื่อนจากช่องท้องลงไปยังถุงอัณฑะ การเจริญเติบโตของร่างกายของทารกในครรภ์ใกล้เคียงกับทารกคลอดครบกำหนด ถ้าคลอดในระยะนี้มีโอกาสอยู่รอดได้มากขึ้น




เมื่ออายุครรภ์ครบ 36 สัปดาห์ ทารกจะยาวประมาณ 45 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 2,000-2,400 กรัม รอยย่นของผิวหนังหายไป แต่ยังมีไขเคลือบอยู่ อวัยวะต่างๆ เจริญเติบโตเกือบเต็มที่ เมื่ออายุครบ 40 สัปดาห์ หรือครบกำหนดคลอด อวัยวะต่างๆ ของทารกจะเจริญเติบโตเต็มที่ตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร น้ำหนักตัวไม่ควรน้อยกว่า 2,500 กรัม ระยะนี้ ศีรษะของทารกจะเคลื่อนลงไปในอุ้งเชิงกราน ทำให้มารดารู้สึกว่า "ท้องลด" หายอึดอัด สบายขึ้น