วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ

1.ระยะไข่ตก (Ovulation) ได้แก่ ระยะ 2 สัปดาห์แรก ปกติเดือนหนึ่งจะมีไข่ตกเพียง 1ฟองโดยประมาณช่วงกลางของรอบเดือน (วันที่ 12-16) ไข่จะเคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในท่อนำไข่ (ส่วนโป่ง) ถ้ามีการร่วมเพศในระยะนั้น อสุจิตัวหนึ่งจากจำนวนหลายล้านตัว จะเข้าผสมกับไข่ แล้วจะเข้าสู่ระยะ Cleavage (Cleavage stage : ระยะแรกของการแบ่งตัวของตัวอ่อน) มีการแบ่งตัวจาก Zygote แบบทวีคูณจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 จาก 8 เป็น 16 เป็นต้นโดยที่ขนาดโดยรวมเท่าเดิม เมื่อมีจำนวนเซลล์เพิ่มขึ้น จะโตเป็นก้อนดูคล้ายผลน้อยหน่า ระยะนี้เรียกว่า ระยะมอรูลาร์ (Morular) แล้วผ่านเข้าสู่ระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) ซึ่งเป็นระยะที่ไข่ผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกและฝังตัว ตำแหน่งที่ไข่ฝังตัวนี้จะกลายเป็นรกในเวลาต่อมา เพื่อเป็นสื่อนำอาหารจากมารดามาเลี้ยงทารกในขณะเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์




Blastocyst แบ่งเป็น 2 แบบคือ

1. Trophoblast --> จะเจริญไปเป็นรก (Placenta)

2. Inner cell mass --> จะเจริญไปเป็นตัวอ่อน



จากนั้นจะเข้าสู่ระยะ Gastrulation ซึ่งจะมีการสร้างเนื้อเยื่อ 3 ชั้นคือ เนื้อเยื่อชั้นนอก (Ectoderm)เนื้อเยื่อชั้นกลาง (Mesoderm) เนื้อเยื่อชั้นใน (Endoderm)





รูปที่ 1 แสดง Cleavage stage




รูปที่ 2 แสดง Blastocyst





รูปที่ 3 ภาพแสดงระยะ Gastrulation



2.ระยะคัพภะ (Embryo) ได้แก่ ระยะตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3-7 หรือ 8 เป็นระยะที่มีการสร้างอวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย (Organogenesis) เช่น หัวใจ ตา หู ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ แขน ขา เป็นต้น ระยะนี้เป็นระยะที่มีอันตรายมากที่สุดสำหรับการติดเชื้อหรือการกินยาบางอย่าง เพราะอาจทำให้เด็กที่เกิดมานั้นพิการได้



รูปที่ 4 แสดงระยะ Organogenesis ซึ่งเจริญไปเป็นอวัยวะต่างๆ



3. ระยะตัวอ่อน (Fetus) ได้แก่ ระยะตั้งแต่สัปดาห์ 7 หรือ 8-40 เป็นระยะของการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆ ที่เริ่มสร้างขึ้นในระยะคัพภะเพื่อที่จะให้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อตัวอ่อนคลอดมาเป็นทารก เช่น ระบบประสาท ระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ในระยะตัวอ่อนนี้ เมื่ออายุครรภ์ครบ 28 สัปดาห์ ทารกจะยาวประมาณ 35 เซนติเมตร

น้ำหนักประมาณ 1,000 กรัม ผิวหนังแดงเรื่อแต่เหี่ยวย่นคล้ายผิวคนแก่ มีไข่เคลือบทั่วอวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานได้ถ้าทารกคลอดในระยะนี้ อาจมีชีวิตอยู่ได้ในความดูแลของกุมารแพทย์ที่มีเครื่องมือเครื่องใช้พร้อม เมื่ออายุครรภ์ครบ 32 สัปดาห์ ทารกจะยาวประมาณ 40 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1,600-2,000 กรัม เริ่มมีไขมันใต้ผิวหนัง ถ้าเป็นเพศชายอัณฑะจะเคลื่อนจากช่องท้องลงไปยังถุงอัณฑะ การเจริญเติบโตของร่างกายของทารกในครรภ์ใกล้เคียงกับทารกคลอดครบกำหนด ถ้าคลอดในระยะนี้มีโอกาสอยู่รอดได้มากขึ้น




เมื่ออายุครรภ์ครบ 36 สัปดาห์ ทารกจะยาวประมาณ 45 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 2,000-2,400 กรัม รอยย่นของผิวหนังหายไป แต่ยังมีไขเคลือบอยู่ อวัยวะต่างๆ เจริญเติบโตเกือบเต็มที่ เมื่ออายุครบ 40 สัปดาห์ หรือครบกำหนดคลอด อวัยวะต่างๆ ของทารกจะเจริญเติบโตเต็มที่ตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร น้ำหนักตัวไม่ควรน้อยกว่า 2,500 กรัม ระยะนี้ ศีรษะของทารกจะเคลื่อนลงไปในอุ้งเชิงกราน ทำให้มารดารู้สึกว่า "ท้องลด" หายอึดอัด สบายขึ้น













การเจริญเติบโตของไข่


การเจริญเติบโตของไข่

ไข่ของคนมีขนาดเล็ก เพราะเป็นไข่ชนิดมีไข่แดงน้อยหรือไม่มีไข่แดงเลย เอ็มบริโอของคนเจริญภายในมดลูกของแม่ เมื่ออสุจิผสมกับไข่ที่ท่อนำไข่ ได้ไซโกต จะแบ่งตัวและค่อยๆ เคลื่อนลงสู่มดลูก ประมาณวันที่ 3 – 4 หลังจากตกไข่ เซลล์ที่แบ่งได้ จะมีการจัดเซลล์ เป็นรูปทรงกลมคล้ายน้อยหน่า เรียกว่า มอรูลา (morula) และจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปเป็น บลาสโทซิส โดยเซลล์ของ บลาสโทซิส แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเซลล์ที่อยู่โดยรอบ (outer cell mass) เรียกว่า โทรโฟ บลาสท์ (trophoblast) ซึ่งจะเจริญเป็นรก และกลุ่มเซลล์ที่อยู่ด้านใน (inner cell mass) เรียกว่า เอ็มบริโอบลาสท์ (embryblast) ซึ่งจะเจริญไปเป็นทารก




รูปที่ 1 แสดงการตกไข่ (ovlation)




ประมาณวันที่ 7-8 หลังจากการตกไข่ จะเกิดการฝังตัวของตัวอ่อน โดยเริ่มจากการสัมผัสระหว่าง โทรโฟบลาสท์ของบลาสโทซีสท์กับผนังมดลูกตรงตำแหน่งที่โทรโฟบลาสท์ปกคลุมเอ็มบริโอบลาสท์อยู่ ต่อจากนั้นจะมีการแทรกตัวของโทรโฟบลาสท์ ลงในเยื่อโพรงมดลูก เพื่อ ยึดเกาะกับผนังมดลูกได้แน่นยิ่งขึ้น การฝังตัวโทรโฟบลาสท์เจริญเป็นรก และเอ็มบริโอบลาสท์เจริญเป็นทารก เมื่อมีการฝังตัวผนังมดลูกจะเปลี่ยนแปลงไปมาก เพื่อให้บลาสโทซีส ฝังตัวได้ดียิ่งขึ้น





รูปที่ 2 แสดงการฝังตัวของบลาสโทซิส โดยเซลล์โทรโฟบลาสท์



บลาสโทซีสจะสร้างฮอร์โมน HCG (human chorionic gonadotrophin) ได้และได้มากขึ้นตามวันที่มีการฝังตัวนานขึ้น HCG ไปกระตุ้นคอร์พัสลูเทียมแทน LH ที่ลดจำนวนลงให้สร้างฮอร์โมน โพรเจสเตอโรน และโพรเจสเตอโรนช่วยกระตุ้นให้ผนังมดลูกดำรงอยู่ได้ไม่หลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน

บริเวณที่เนื้อเยื่อรอบๆ เอ็มบริโอกับเส้นเลือดของแม่นี้ เรียกว่า รก (placenta) ต่อมามีการสร้างถุงน้ำคร่ำห่อหุ้มเอ็มบริโอไว้ เส้นเลือดใหญ่ที่ติดต่อระหว่างรกกับลูกในมดลูก โดยมีเนื้อเยื่อต่างๆ หุ้มอยู่เรียกว่า สายสะดือ ที่รกเป็นบริเวณที่เอ็มบริโอได้รับแก๊สออกซิเจน อาหารและสิ่งจำเป็นจากแม่ และถ่ายทอดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ของเสียพวกยูเรียไปให้แม่ ตามปกติเลือดของแม่และเลือดลูกจะไม่ปะปนกัน แต่จะไหลคู่ขนานกันไปทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารต่างๆ ได้ดี เอ็มบริโอของคนมีถุงแอลแลนทอยส์ (allantois) ถุงไข่แดงเช่นเดียวกับเอ็มบริโอไก่ แต่ถุงแอลแลนทอยส์ และถุงไข่แดงมีขนาดเล็กมากเนื่องจากไม่มีหน้าที่ใดๆ เพราะรกทำหน้าที่แทนได้เป็นอย่างดี ทำให้เอ็มบริโอ ของคนเจริญอยู่ในมดลูกแม่ได้อย่างปกติสุข


สรุปการเจริญของระยะเอ็มบริโอในแต่ละสัปดาห์
ในระยะของเอ็มบริโอ คือ ช่วงสัปดาห์ที่ 4 – 8 นี้ เอ็มบริโอมีการเจริญอย่างมาก เนื้อเยื่อต่าง ๆ ถูกจัดเข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่จะดัดแปลงตัวให้เป็นอวัยวะที่ทำงานได้แล้ว ซึ่งสรุปได้ดังนี้


เดือนที่ 1 (สัปดาห์ที่ 4)

1. เอ็มบริโอจะเปลี่ยนรูปทรงจากที่เป็นแผ่นบาง ม้วนเข้าเป็นรูปทรงกระบอก มีการงอตัวตามยาว และยกส่วนหัวและหางเรียกว่า เฮดโฟล์ด (head fold) และ เทลโฟลด์ (tail fold)

2. อวัยวะภายในของระบบต่างๆ เริ่มก่อรูปขึ้นโดยเฉพาะระบบประสาทจะเจริญ ดีมากซึ่งต่อไปจะเจริญไปเป็นสมองและไขสันหลัง

3. ส่วนบนของถุงไข่แดงถูกรวบเข้าไปในตัวเอ็มบริโอ ให้เป็นท่อทางเดินอาหาร ทั้งส่วนต้น ส่วนกลาง และส่วนท้าย ทั้งยังมีส่วนที่ดัดแปลงให้เป็นอวัยวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารด้วย เช่น ตับ ตับอ่อน

4. ที่บริเวณส่วนหน้าของทางเดินอาหารส่วนต้น มีส่วนของเอนโดเดิร์มที่ยื่นเป็นปุ่ม ซึ่งจะเจริญไปเป็นปอด และท่อลม

5. หัวใจเริ่มเต้น มีการเชื่อมต่อกันของเส้นเลือดจากผนังของถุงไข่แดงจาก แอลแลนทอยส์และคอเรียนกับเส้นเลือดภายในตัวเอ็มบริโอ ระบบไหลเวียนเลือดเริ่มทำงานได้แล้ว

6. เริ่มมีการก่อรูปของ ตา หู จมูก เริ่มเห็นการเจริญระยะแรกของเลนส์ตา

7. เริ่มมีปุ่มแขนและปุ่มขา เจริญขึ้นที่บริเวณด้านข้างของลำตัว

เดือนที่ 2 (สัปดาห์ที่ 5-7 )
1. ส่วนหัวโตขึ้นมาก ใบหน้างอชิดกับส่วนหัวใจ
2. มีการเจริญของ ต่อมพาราไทรอยด์ ม้าม และระบบสืบพันธุ์
3. ส่วนทางเดินอาหารที่จะเจริญเป็นกระเพาะจะโป่งออก
4. ปุ่มแขนและขาเริ่มคอดให้เป็นส่วนข้อศอกและข้อมือ ส่วนที่จะพัฒนาไปเป็นมือจะแผ่กว้างออกคล้ายใบพาย


เดือนที่ 2 (สัปดาห์ที่ 8)
1. ปลายสัปดาห์นี้ (ปลายเดือนที่ 2) เอ็มบริโอ ดูคล้ายมนุษย์โดยทั่วไป ส่วนหัว แม้จะโตมาก แต่ก็ตั้งตรงได้มองเห็นส่วนคอได้ชัดเจน ส่วนของตาและหูเห็นได้ชัด จมูกโด่งยื่นขึ้นมา
2. ระบบประสาทเริ่มควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทำให้เอ็มบริโอเริ่มขยับตัวได้
3. ที่ผิวของตัวอ่อนพบมีชั้นบางๆ ของหนังกำพร้าคลุมอยู่
4. ที่แขนขาเริ่มเห็นการเจริญของนิ้วมือได้แล้ว
5. อวัยวะเพศภายนอกเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น


เอ็มบริโอขณะนี้วัดความยาวจากจุดสูงสุด ของกระหม่อมถึงส่วนต่ำสุดของร่างกาย คือ ส่วนก้นประมาณ 23 มิลลิเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 1 กรัม เมื่อเสร็จสิ้นสัปดาห์ที่ 8 เอ็มบริโอ จะมีลักษณะคล้ายมนุษย์มากขึ้นเรียกเอ็มบริโอในระยะสัปดาห์ที่ 9 ของการเจริญเติบโตว่า ฟีตัส


เดือนที่ 3 (สัปดาห์ที่ 9-12)
1. ฟีตัสเจริญอย่างรวดเร็ว ความยาวเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่าของเอ็มบริโอในระยะสัปดาห์ที่ 8
2. หัวมีขนาดประมาณ 1/3 ของความยาวของลำตัว หน้าผากนูน ใบหน้ากว้าง ตำแหน่งตาจากด้านข้างจะ เคลื่อนมาข้างหน้า ทำให้ใบหน้าดูคล้ายคนมากขึ้น ใบหูยังอยู่ต่ำตรงกับขากรรไกรล่าง
3. ที่ปลายนิ้วเริ่มมีปรากฏเล็บและลายนิ้วมือ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัว
4. ช่วงนี้ตับเป็นอวัยวะสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด แต่ตอนท้ายๆ ม้ามทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแทน
5. ไตเริ่มทำงานสร้างน้ำปัสสาวะได้ และฟีตัส สามารถถ่ายปัสสาวะออกมา ปนอยู่ใต้น้ำคร่ำ อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกเจริญดีพอสมควร ราวปลายสัปดาห์ที่ 12 อาจบอกเพศ ของทารกได้แล้ว ฟีตัสขณะนี้มีความยาวของลำตัว ประมาณ 56 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 14 กรัม


เดือนที่ 4 (สัปดาห์ที่ 13-16)
1. ฟีตัสเติบโตอย่างรวดเร็วมองดูลักษณะทั่วไปเป็นร่างมนุษย์แล้ว ส่วนหัวยังคงมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับขนาดลำตัว ใบหน้าจะกว้างออก ใบหูเคลื่อนสูงจากตำแหน่งเดิมเล็กน้อย
2. อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น สามารถบอกเพศของทารกได้ฟีตัสขณะนี้มีความยาวของลำตัวประมาณ 12 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 105 กรัม

เดือนที่ 5 (สัปดาห์ที่ 17-20)
1. การเติบโตเริ่มลดน้อยลง ขนาดของหัวดูเล็กลงเมื่อเทียบส่วนกับความยาวของลำตัว
2. มีขนอ่อนปกคลุมทั่วตัว ขนคิ้วและผมที่หัว ต่อมไขมันใต้ผิวหนังเริ่มทำหน้าที่
3. ช่วงนี้เริ่มมีไขมันสะสมอยู่ตามที่ต่างๆ ที่เชื่อว่าเป็นแหล่งพลังงานให้ความร้อนแก่ทารกแรกคลอด
4. ระบบกล้ามเนื้อและประสาทเจริญดีขึ้น เด็กเริ่มดิ้นจนแม่รู้สึกได้แล้ว
5. ฟีตัสเพศหญิง มดลูกจะเจริญดีแล้ว และเริ่มต้นมีช่องคลอด ส่วนในฟีตัสเพศชายอัณฑะจะเริ่มเคลื่อนลงมาจากผนังช่องท้อง แต่ยังไม่ลงสู่ถุงอัณฑะ
6. สามารถฟังเสียงหัวใจเต้นได้ทางผนังหน้าท้องของแม่ โดยใช้เครื่องช่วยฟังของแพทย์ที่เรียกว่า สเตทโทสโคป
ฟีตัสระยะนี้มีความยาวของลำตัว ประมาณ 160 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักตัว ประมาณ 310 กรัม


เดือนที่ 6 (สัปดาห์ที่ 21-25)
1. ผิวหนังของฟีตัสมีลักษณะเหี่ยวย่นและบางใส จึงสามารถมองผ่านเข้าไปเห็นเป็นสีแดงปนชมพูของไมโอโกลบิน ในกล้ามเนื้อที่อยู่ถัดไปได้
2. ใบหน้ามีลักษณะคล้ายเด็ก ขนคิ้วเห็นได้ชัดเจน เริ่มมีขนตาสามารถลืมตาและหลับตาได้แล้ว
3. เซลล์ในถุงลมของปอด สามารถสร้างสารลดความตึงผิวของถุงลม ที่เรียกว่า เซอร์แฟกแมนต์ ได้ราวสัปดาห์ที่ 24 แต่ยังไม่สมบูรณ์นัก สารนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับ การหายใจด้วยตนเองและทารกหลังคลอด ดังนั้นหากทารกคลอดออกมาก่อนหน้านี้ก็จะเสียชีวิต เนื่องจากระบบการหายใจล้มเหลว ไม่สามารถหายใจได้


เดือนที่ 7 (สัปดาห์ที่ 26-29)
1. ปอดและระบบเส้นเลือด ภายในถุงลมต่างๆ พัฒนาขึ้นมาก รวมทั้งสาร เซอร์แฟกแมนต์ สำหรับลดความตึงผิวภายในถุงลมก็มีมากพอสำหรับการหายใจแล้ว ดังนั้นฟีตัส ที่คลอดออกมาในระยะนี้จะสามารถหายใจได้ด้วยตัวเองบ้างแล้ว และอาจรอดชีวิตหากได้รับการ ดูแลอย่างดีเลิศ และมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยพอ
2. การทำงานของระบบประสาทส่วนกลางสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยสามารถควบคุมจังหวะการหายใจและการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้แล้ว
3. ขนอ่อนและผมยาวมากขึ้น เริ่มมีการสะสมของชั้นไขมันใต้ผิวที่เห็นเหี่ยวย่น ในเดือนที่แล้ว เริ่มตึงและเรียบขึ้น เริ่มมีเล็บเท้า
4. ม้ามจะหยุดการสร้างเม็ดเลือด และมีน้ำหนักตัวประมาณ 1,080 กรัม


เดือนที่ 8 (สัปดาห์ที่ 30-34)
สัปดาห์ที่ 30 รูม่านตาสามารถตอบสนองต่อแสงที่มากระตุ้นให้ผิวหนังเรียบตึง สีชมพู แขนขาดูกลมกลืน ขนอ่อนบางส่วนหลุดออกจากบริเวณใบหน้าแต่ผมกลับยาวขึ้น เล็บมือยาวออกมาถึงส่วนปลายนิ้ว
ฟีตัสระยะนี้มีความยาวของลำตัวประมาณ 280 มิลลิเมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 1,670 กรัม หากคลอดในระยะนี้ มักมีโอกาสรอดอยู่ได้ หากได้รับการดูแลอย่างดีและ มีเครื่องมือแพทย์ช่วย


เดือนที่ 9 (สัปดาห์ที่ 35-38)
1. สัปดาห์ที่ 35 ฟีตัส มีไขมันใต้ผิวหนังสมบูรณ์แล้ว ลักษณะภายนอกดูอ้วนกลม มือกำได้แน่น และมีการตอบสนองต่อแสงได้
2. สัปดาห์ที่ 36 เส้นรอบศีรษะมีขนาดเท่าๆ กับเส้นรอบวงของส่วนท้อง การเจริญในช่วงนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ จนกว่าจะคลอด ฟีตัสจะมีความยาวของลำตัวประมาณ 360 มิลลิเมตร และหนักประมาณ 3000-3400 กรัม โดยทั่วไปเด็กชายจะหนักกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย
3. เมื่ออายุได้ 38 สัปดาห์ หลังการปฏิสนธิ หรือ 40 สัปดาห์นับจากวันแรกของการ มีประจำเดือนครั้งหลังสุดของแม่ ซึ่งเป็นระยะที่ครบกำหนดคลอด ในเพศชายอัณฑะจะเคลื่อนลงไปอยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28-32
การคาดคะเนการครบกำหนดคลอดในผู้หญิงที่มีประจำเดือน 28 วัน สามารถคาดคะเน การครบกำหนดคลอดได้โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย แล้วนับย้อนหลังกลับไปตามปฏิทิน 3 เดือน แล้วบวกด้วย 1 ปี กับอีก 1 สัปดาห์ ก็จะเป็นวันครบกำหนดคลอด





รูปที่ 3 แสดงเอ็มบริโออายุ 4 สัปดาห์


รูปที่ 4 แสดงเอ็มบริโออายุ 5 สัปดาห์





รูปที่ 5 แสดงเอ็มบริโออายุ 8 สัปดาห์



รูปที่ 6 แสดงเอ็มบริโออายุ 14 สัปดาห์






รูปที่ 7 แสดงเอ็มบริโออายุ 20 สัปดาห์


แอมนิโอเซนทีซิส (amniocentesis) เป็นการเจาะเอาน้ำคร่ำออกมาศึกษาโดยใช้เข็มเจาะ ผ่านผนังหน้าท้องทะลุมดลูกเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ มักทำเมื่อเลยสัปดาห์ที่ 14 ของการตั้งครรภ์ไปแล้วเพราะมีน้ำคร่ำมากพอ ซึ่งในน้ำคร่ำจะมีเซลล์ของฟีตัสหลุดออกมา แล้วนำเซลล์นั้นไปเพาะเพื่อศึกษาโครโมโซมว่าผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ซึ่งมีโครโมโซม คู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง ทำให้ทารกเป็นเด็กปัญญาอ่อนและเกิดได้มากในแม่ที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการผิดปกติค่อนข้างสูงจึงควรตรวจแอมนิโอเซนทีซิส เพื่อจะได้แก้ไขหรือป้องกันต่อไป



การเจริญเติบโตของคนระยะหลังคลอด

การเจริญเติบโตของคนหลังคลอดส่วนใหญ่จะเป็นความสูงและน้ำหนักของร่างกาย ร่างกายแต่ละส่วนจะเจริญได้ไม่เท่ากัน อัตราการเติบโตของส่วนต่างๆ ในร่างกายจะไม่เท่ากัน

สมองจะมีการเติบโตในตอนแรกมาก แต่ในระยะหลังจะมีการเพิ่มการเติบโตน้อยมาก ส่วนหัวใจและร่างกายจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างจะมีความสัมพันธ์เป็นแบบเดียวกัน คือ เมื่อน้ำหนักร่างกายเพิ่มขึ้น น้ำหนักของหัวใจก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ในคนการเติบโตของส่วนต่างๆ ในร่างกายจะไม่เท่ากัน ตอนที่เป็นตัวอ่อน (ฟีตัส) จะมีส่วนหัวใหญ่ ส่วนขาจะสั้นมาก เมื่อคลอด ออกมาแล้วส่วนขาก็จะเริ่มขยายยาวขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นส่วนขาก็จะยาวขึ้นเป็นครึ่งหนึ่งของลำตัว

สมองและศีรษะจะเจริญเติบโตมาก ในช่วงทารกอัตราการเพิ่มจะน้อยลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ขนาดของร่างกายจะเพิ่มเร็วมาก หลังจากนั้นการเจริญเติบโตช้าลง แล้วเพิ่มมากอีกครั้งหนึ่งเมื่อ เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เมื่ออายุระหว่าง 10 – 16 ปี เนื้อเยื่อน้ำเหลืองซึ่งทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดขาวจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงมากเมื่ออยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น ส่วนอวัยวะเพศในขณะที่เป็นเด็กการเจริญเติบโตจะน้อยมากและจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นคือช่วงอายุ 10 – 18 ปี เมื่ออายุ 20 ปี ทุกอย่าง จะเข้าสู่สภาพปกติของการเป็นผู้ใหญ่


สภาวะบางประการที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์


อาหารมีความสำคัญต่อทารกในครรภ์มากเพราะไข่คนเป็นชนิดไข่แดงน้อย ดังนั้นแม่จึงต้องรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ให้เพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรตีน ที่มีกรด อะมิโน จำเป็นต่อร่างกายต้องได้รับอย่างครบสมบูรณ์ แคลเซียม มีความจำเป็นเพราะจะต้องนำไปใช้ในการสร้างกระดูกของทารก วิตามิน มีส่วนช่วยในการเกิดปฏิกิริยาเคมีต่างๆ
คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ให้พลังงาน

สารเคมีพวกเทอราโทเจน ทำให้การเจริญเติบโตของอวัยวะผิดปกติ มีผลต่อการเจริญเติบโตของเอ็มบริโอในระยะ 2 เดือนแรกมาก เช่น ยากล่อมประสาท ทาลิโดไมด์ มีผลทำให้การเจริญของแขนขาผิดปกติ ทารกที่แม่ใช้ยาทาลิโดไมด์ อาจทำให้แขนขากุดได้ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ก็มีผลทำให้การเจริญผิดปกติและอาจทำให้เกิดการแท้งได้

การรักษาสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญมาก ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ระยะต้น ติดเชื้อหัดเยอรมันจะทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตของสมอง หูส่วนใน เลนส์ตา และกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งครรภ์ในระยะแรก การได้รับรังสีเอกซ์ จากการเอกซเรย์มากเกินไป ก็มีผลต่อการเจริญเติบโตและทำให้เกิดการผิดปกติของทารกได้เช่นกัน



ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเอ็มบริโอและลูกอ่อน


อาหาร สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด จะมีวิธีการให้อาหารแก่ลูกอ่อนที่กำลังเจริญเติบโต การให้อาหารจะแตกต่างกันไป เช่น จิงโจ้เป็นสัตว์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่มีระยะอุ้มท้องสั้นมากเพียง 39 วันเท่านั้น เนื่องจากรกของจิงโจ้เจริญพัฒนาน้อยกว่าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ รกจิงโจ้ไม่มีการแทรกเข้าไปในผนังมดลูก แต่จะมีการติดต่อกันอย่างผิวเผิน ทำให้การติดต่อระหว่างแม่กับลูกเป็นไปได้ไม่ดี การส่งผ่านของแก๊ส และสิ่งขับถ่ายต่างๆ ระหว่างแม่กับลูกจึงอยู่ในของเขตที่จำกัด ลูกจิงโจ้จึงต้องคลอดออกมาแล้วไม่ค่อยแข็งแรง แม่จิงโจ้มีการปรับตัว โดยการที่มีกระเป๋าสำหรับให้ลูกเข้าไปอาศัยอยู่ และลูกจะได้อาหาร คือ น้ำนมจากแม่อีกระยะหนึ่ง ระยะนี้ลูกจิงโจ้จะดูดนมตลอดเวลา จนทำให้เจริญเติบโตขึ้นและเป็นลูกจิงโจ้ ที่สมบูรณ์ต่อไป



การคุ้มภัยให้เอ็มบริโอและลูกอ่อน

การคุ้มภัยให้ลูกอ่อนแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

1. เอ็มบริโอที่เจริญเติบโตนอกตัวแม่ เอ็มบริโอพวกนี้จะต้องมีส่วนที่ช่วยป้องกันอันตรายให้แก่เอ็มบริโอที่อยู่ภายใน เช่น
ไข่ไก่ จะมีเปลือกแข็งหุ้มช่วยให้เอ็มบริโอที่อยู่ภายในปลอดภัย
ไข่กบ จะมีวุ้นซึ่งเป็นที่รังเกียจของสัตว์อื่นๆ หุ้มอยู่ทำให้สัตว์อื่นๆ ไม่กินไข่กบ
ปลา จะไม่มีอวัยวะใดปกคลุมไข่ ดังนั้นจึงต้องออกไข่คราวละมากๆ เพื่อให้ลูกอ่อนมีโอกาสฟักและอยู่รอดมากขึ้น
ในพวกกุ้ง กั้ง ปู จะนำไข่ติดตัวไปด้วยเสมอ ทำให้เอ็มบริโอที่อยู่ภายในไข่ไม่ถูกทำลายโดยที่แม่จะเป็นตัวคุ้มภัยให้

2. เอ็มบริโอที่เจริญภายในตัวแม่ เอ็มบริโอพวกนี้จะมีความปลอดภัยสูงมาก เพราะแม่จะเป็นตัวคุ้มภัยให้เป็นอย่างดี เนื่องจากลูกอยู่ภายในตัวแม่ เอ็มบริโอที่เจริญภายในตัวแม่ ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลาฉลามและงูบางชนิด



การคุ้มภัยให้ลูกอ่อนของสัตว์เลื้อยคลาน

เต่าทะเล จะขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดทรายโดยการขุดหลุมให้มีความลึกพอเหมาะแล้ววางไข่ ต่อจากนั้นจะใช้ทรายกลบไข่ไว้ ทรายจะช่วยในการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นให้พอเหมาะต่อการฟักไข่ นอกจากนี้ทรายยังช่วยป้องกันภัยจากศัตรูที่จะมากินไข่ได้

จระเข้ จะขึ้นมาวางไข่บนบกใกล้ๆ ที่อยู่อาศัยแล้วใช้หญ้าเน่าหรือพืชบริเวณนั้น ปกคลุมไข่ไว้ ปฏิกิริยาเคมีของการย่อยสลายหญ้าเน่า จะเกิดความร้อนช่วยในการฟักไข่ได้ นอกจากนั้นแม่จระเข้ยังคงวนเวียนอยู่ใกล้กองไข่

งูเห่า งูจงอาง ก็จะทำรังจากหญ้าแห้ง เพื่อช่วยในการคุ้มครองและปกป้องไข่และ ยังช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้กับไข่ด้วยโดยงูเห่าและงูจงอางก็จะเฝ้าไข่เช่นกัน จะเห็นได้ว่าสัตว์เลื้อยคลายไม่มีการฟักไข่ เนื่องจากเป็นสัตว์เลือดเย็น แต่ก็อาศัยการจัดสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสมกับการฟักไข่และการคุ้มครองไข่ ให้มีโอกาสฟักให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกอ่อนมีโอกาส รอดได้



การคุ้มภัยให้ลูกอ่อนของสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม


มีการเลี้ยงดูลูกอ่อนที่ฟักหรือคลอดออกมา ทำให้ลูกที่เกิดมามีโอกาสอยู่รอดมากยิ่งขึ้นด้วยโดยวิธีการดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีน้ำนมใช้เลี้ยงลูกอ่อนระยะแรกแล้วลูกอ่อนจะกินอาหารอื่นๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น
สัตว์ปีก แม่จะเป็นผู้หาอาหารมาให้หรือพาไปหาอาหาร ลูกจึงเจริญเติบโตได้ดี

เม่นทะเล เป็นสัตว์ที่มีไข่ขนาดเล็กและมีไข่แดงน้อยมาก เอ็มบริโอภายในไข่จะเจริญอย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียง 35-40 ชั่วโมงเท่านั้น ก็จะฟักออกเป็นตัวและหาอาหารได้ทันที การที่เม่นทะเลมีไข่แดงน้อยมาก จึงทำให้ระยะที่เอ็มบริโออยู่ในไข่สั้น เพราะถ้าหากเอ็มบริโออยู่ใน ไข่นานกว่านั้น เอ็มบริโอจะขาดแคลนอาหารและเป็นอันตรายต่อเอ็มบริโอมาก

กบ เป็นสัตว์ที่มีไข่แดงค่อนข้างมาก ดังนั้นเอ็มบริโอของกบจึงเจริญพัฒนาอยู่ในไข่ ได้นานกว่าเอ็มบริโอของเม่นทะเล ประมาณ 6 วัน หลังจากปฏิสนธิเอ็มบริโอของกบ จะฟักออกเป็นลูกอ๊อด มีปากและทางเดินอาหารที่สมบูรณ์ และสามารถหาอาหารได้ตามลำพัง

ไก่ เป็นสัตว์ที่มีไข่แดงจำนวนมาก ไข่ไก่หนักประมาณ 55 กรัม ลูกไก่ที่ฟักออก จะหนักใกล้เคียงกับน้ำหนักไข่ เนื่องจากอาหารของเอ็มบริโอไก่ คือ ไข่แดงที่สะสมอยู่นั่นเอง ไก่มีเวลาฟักไข่ประมาณ 21 วัน อาหารที่เก็บสะสมอยู่ก็จะพอดีกับการเจริญเติบโตของลูกไก่ที่อยู่ภายในไข่




การเจริญเติบโตของไก่





การเจริญเติบโตของไก่


ไก่เป็นสัตว์ที่วางไข่บนบก เอ็มบริโอของไก่มีการปรับโครงสร้างหลายประการที่แตกต่างไปจากเอ็มบริโอที่เจริญในน้ำ ได้แก่ การมีเปลือกไข่ เพื่อป้องกันอันตรายและแก้ปัญหาการสูญเสียน้ำของเซลล์ไข่ นอกจากนี้เอ็มบริโอยังห่อหุ้มด้วยถุง 2 ชั้น ถุงชั้นใน คือ ถุงน้ำคร่ำ (amnion) มีของเหลวบรรจุอยู่ เพื่อทำหน้าที่ป้องกันการกระทบกระเทือนและป้องกันไม่ให้เอ็มบริโอแห้ง ถุงชั้นนอก เรียกว่า คอเรียน (chorion) อยู่ใกล้เปลือกไข่ ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊ส ในระยะที่มีการเจริญของอวัยวะต่างๆ เอ็มบริโอจะมีการสร้างถุง เรียกว่า แอลแลนทอยส์ (allantois) จากตัวเอ็มบริโอแทรกไปชิดกับเปลือกไข่ พร้อมกับมีหลอดเลือดฝอยอยู่โดยรอบ ถุงนี้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนแก๊สกักบภายนอกและเก็บของเสียประเภทกรดยูริกสะสมไว้จนกระทั่งเอ็มบริโอออกจากไข่ เมื่อเอ็มบริโอนี้เจริญเติบโตเต็มที่ก็จะฟักออกจากไข่ แล้วเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบเมตามอร์โฟซิส






























การเจริญเติบโตของสัตว์หลังระยะเอ็มบริโอ

การเจริญเติบโตหลังระยะเอ็มบริโอของสัตว์


สัตว์บางชนิดเช่น แมลงและกบ มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างขณะเจริญเติบโต โดยรูปร่างขณะที่เป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัยแตกต่างกันมาก เรียกการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ว่า เมทามอร์โฟซิส (metamorphosis)


1. เมทามอร์โฟซิสของแมลง แบ่งออกเป็น 4 แบบคือ

1.1 ไม่มีเมทามอร์โฟซิส (without metamorphosis หรือ ametamorphosis ) ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่มีรูปร่างเหมือนกับพ่อแม่ทุกอย่าง แล้วตัวอ่อนก็ค่อย ๆ เจริญเติบโตแล้วลอกคราบเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป เช่น แมลงสามง่าม แมลงหางดีด




รูปที่ 1 แสดงวงชีวิตของแมลงสามง่าม



1.2 มีเมทามอร์โฟซิสแบบค่อยเป็นค่อยไป (gradual metamorphosis) ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่มีรูปร่างคล้ายพ่อแม่ แต่มีอวัยวะบางอย่างไม่ครบ เช่น ไม่มีปีก เมื่อแมลงโตขึ้นและลอกคราบปีกจะเริ่มงอกขึ้นเรียกตัวอ่อนระยะนี้ว่า นิมฟ์ (nymph) ต่อจากนั้นก็จะมีการลอกคราบหลายครั้งและเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป เช่น ตั๊กแตน แมลงสาบ ปลวก เหา ไร่ไก่ จั๊กจั่น


รูปที่ 2 แสดงวงชีวิตของปลวก




1.3 มีเมทามอร์โฟซิสแบบไม่สมบูรณ์ (incomplete metamorphosis) มีลักษณะคล้ายแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ขณะที่เจริญเติบโตนั้น มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างมากกว่า ตัวอ่อนมักเจริญอยู่ในน้ำ หายใจด้วยเหงือกเรียกว่า ไนแอด (naiad) ต่อจากนั้นตัวอ่อนจะลอกคราบขึ้นมาอยู่บนบกและหายใจด้วยระบบท่อลม เช่น ชีปะขาว แมลงปอ



รูปที่ 3 แสดงวงชีวิตของแมลงปอ




1.4 มีเมทามอร์โฟซิสแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) โดยมีการเจริญเปลี่ยนแปลงรูปร่างของร่างกาย เป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ ไข่ (egg) แล้วฟักเป็นตัวอ่อนหรือตัวหนอน (larva) ซึ่งกินอาหารเก่งมากและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต่อจากนั้นจึงเป็นดักแด้ (pupa) หยุดกินอาหารมักใช้ใยหรือใบไม้หุ้มตัวและฟักตัวอยู่ระยะหนึ่ง ตัวเต็มวัย (adult) ออกจากเกราะและสืบพันธุ์ได้ต่อไป เช่น ด้วง ผีเสื้อ แมลงวัน ยุง ผึ้ง ไหม






รูปที่ 4 แสดงวงชีวิตของผีเสื้อ





รูปที่ 5 แสดงวงชีวิตของยุง



เมทามอร์โฟซิสของกบ

กบมีการผสมพันธุ์และวางไข่ในน้ำ ซึ่งตามปกติแล้วฤดูผสมพันธุ์นั้นคือ ฤดูฝน ไข่ไม่มีเปลือกหุ้มแต่มีวุ้นหุ้มอยู่รอบ ๆ หลังจากปฏิสนธิ 3-12 ชั่วโมงจะมีการแบ่งเซลล์เกิดขึ้น ตัวอ่อนจะงอกหางเมื่ออายุได้ 4 วัน วันที่ 6 หลังจากปฏิสนธิตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่เป็นลูกอ๊อด ว่ายน้ำและหายใจด้วยเหงือก ซึ่งอยู่ภายนอก มีการงอกขาหลังและขาหน้าตามลำดับ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างต่อโดยหางจะหดสั้นเข้า ขึ้นมาอาศัยอยู่บนบกได้ หายใจด้วยปอดและผิวหนังแทนเหงือก พออายุได้ 3 ปี ก็จะเป็นกบที่สมบูรณ์และสืบพันธุ์ได้ต่อไป




รูปที่ 6 แสดงวงชีวิตของกบ







วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเจริญเติบโตของสัตว์และกระบวนการที่มีความสำคัญ

กระบวนการที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต

เซลล์เมื่อ
แบ่งตัวแล้วก็จะเปลี่ยนสภาพไป เพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่าง การแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส ทำให้ได้จำนวนเซลล์เพิ่มมากขึ้นและเป็นผลทำให้เกิดการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตนั้น ซึ่งตามปกติแล้วจะเกิดกระบวนการต่างๆ หลายประการ คือ

1. การแบ่งเซลล์ หรือ การเพิ่มจำนวนเซลล์ (cell multiplication)
สิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เดียว เมื่อมีการแบ่งเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ก็จะทำให้เกิดการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศขึ้น สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เมื่อเกิดปฏิสนธิแล้ว เซลล์ที่ได้ก็คือ ไซโกต ซึ่งจะมีการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ให้มากขึ้น


2. การเจริญเติบโต (growth)
ในสิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เดียว การเพิ่มของไซโทพลาซึมก็จัดว่าเป็นการเจริญเติบโต เมื่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิตแบ่งเซลล์ในตอนแรกเซลล์ใหม่ที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่าเซลล์เดิม ในเวลาต่อมาเซลล์ใหม่ที่ได้จะสร้างสารต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ขนาดของเซลล์ใหม่นั้นขยายขนาดขึ้น ซึ่งจัดเป็นการเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งจัดเป็นการเจริญเติบโตด้วยเช่นกัน

3. การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ (cell differention)

สิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เดียวก็มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ เหมือนกัน เช่น มีการสร้างเซลล์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี เช่น การสร้าง เอนโดสปอร์ ของแบคทีเรียในพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินก็มี เช่น การสร้างเซลล์พิเศษซึ่งเรียกว่า เฮเทอโรซิสต์ (heterocyst) มีผนังหนาและสามารถจับแก๊สไนโตรเจนในอากาศเปลี่ยนเป็นสารประกอบไนโตรเจนที่มีประโยชน์ต่อเซลล์ของสาหร่ายชนิดนั้นๆ ได้

สิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์ทางเพศ เมื่อไข่และอสุจิผสมกันก็จะได้เซลล์ใหม่ คือ ไซโกต ซึ่งมีเพียงเซลล์เดียว ต่อมาไซโกตจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์ให้มากขึ้น เซลล์ใหม่ๆ ที่ได้จะเปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ กัน เช่น
- เซลล์กล้ามเนื้อทำหน้าที่ในการหดตัวทำให้เกิดการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหว

- เซลล์เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ลำเลียงแก๊สออกซิเจน
- เซลล์ประสาททำหน้าที่ในการนำกระแสประสาทเกี่ยวกับความรู้สึกและคำสั่ง
- เซลล์ต่อมไร้ท่อทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เซลล์ภายในร่างกายของเราจะเริ่มต้นมากจากเซลล์เดียวกัน แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ กันไป เพื่อให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันได้

การเกิดรูปร่างที่แน่นอน (morphogenesis) เป็นผลจากการเพิ่มจำนวนเซลล์ การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ กระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้น ในระยะเอ็มบริโออยู่ตลอดเวลา มีการสร้างอวัยวะต่างๆ ขึ้น อัตราเร็วของการสร้างในแต่ละแห่ง บนร่างกาย จะไม่เท่ากัน ทำให้เกิดรูปร่างของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดขึ้นโดยที่สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีแบบแผนและลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งถูกควบคุมโดยจีนบนโครโมโซมของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ

การวัดการเติบโต (measurement of growth)
เป็นการวัดขนาดที่เพิ่มมากขึ้นทำได้หลายวิธี คือ


1. การวัดน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
หรือการหามวลของมีชีวิตที่เพิ่มขึ้น การวัดน้ำหนักเป็นเกณฑ์ที่สำคัญที่ใช้ในการวัดการเติบโต เพราะการที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เนื่องมากจากเซลล์ของร่างกายเพิ่มมากขึ้นหรือมีการสร้างและสะสมของสารต่างๆ ภายในเซลล์และร่างกายมากขึ้น การเพิ่มของน้ำหนักจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอัตราการเติบโต จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้ ในการวัดการเติบโตมากกว่าเกณฑ์อื่นๆ

2. การวัดความสูงที่เพิ่มขึ้น
ความสูงที่เพิ่มขึ้นอาจไม่เป็นอัตราส่วนกับมวลหรือน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการวัดความสูงจึงเป็นการคาดคะเนการเติบโตเท่านั้น

3. การวัดปริมาตรที่เพิ่มขึ้น
ปริมาตรที่เพิ่มขึ้นมักจะสัมพันธ์กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น แต่การหาปริมาตรจะมีความยุ่งนากและลำบากกว่าการหาน้ำหนักจึงไม่ค่อยนิยมใช้กันมากนัก

4. การนับจำนวนเซลล์ที่เพิ่มขึ้น
การนับจำนวนเซลล์จะใช้กับสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กๆ ได้ เช่น การเพิ่มจำนวนเซลล์ของสาหร่าย ไม่นิยมใช้กับสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ๆ

เส้นโค้งของการเจริญเติบโต (growth curve)


เส้นโค้งที่แสดงการเติบโตอาจจะวัดออกมาเป็นหน่วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยเวลาที่เปลี่ยนไป หรือหน่วยความสูงที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยเวลาที่เปลี่ยนไป สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะมี เส้นโค้งการเจริญเติบโตเป็นรูปตัว S หรือ sigmoid curve เสมอ
เส้นโค้งการเติบโตแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ

1. ระยะเริ่มต้น
เป็นระยะที่สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นเริ่มการเติบโต ในระยะนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ เส้นโค้งการเติบโตจึงมีความชันน้อย

2. ระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว
เป็นระยะที่ต่อจากระยะแรกโดยที่สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นจะมีการเพิ่มจำนวนเซลล์มีการสร้างสารต่างๆ สะสมในเซลล์มากขึ้นทำให้น้ำหนักหรือความสูงหรือจำนวนเซลล์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนโค้งการเติบโตจึงชันมากกว่าระยะอื่นๆ

3. ระยะคงที่
เป็นระยะที่มีการเติบโตสิ้นสุดแล้ว ทำให้น้ำหนัก ความสูงหรือขนาดของสิ่งมีชีวิต ไม่เพิ่มขึ้นและค่อนข้างจะคงที่อยู่อย่างนั้นตลอดไป

4. ระยะสิ้นสุด
เมื่อสิ่งมีชีวิตเติบโตถึงที่สุดแล้ว และถ้าปล่อยเวลาต่อไปอีกก็จะถึงระยะเวลาที่ร่วงโรยเสื่อมโทรมในที่สุดก็จะตายไป

ในสัตว์พวกที่มีโครงร่างแข็งนอกตัว (exoskeleton) จะมีแบบแผนของการเติบโตแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป เช่น มวนน้ำชนิดหนึ่ง จะมีแบบแผนแบบขั้นบันได