วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเจริญเติบโตของสัตว์และกระบวนการที่มีความสำคัญ

กระบวนการที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต

เซลล์เมื่อ
แบ่งตัวแล้วก็จะเปลี่ยนสภาพไป เพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่าง การแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส ทำให้ได้จำนวนเซลล์เพิ่มมากขึ้นและเป็นผลทำให้เกิดการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตนั้น ซึ่งตามปกติแล้วจะเกิดกระบวนการต่างๆ หลายประการ คือ

1. การแบ่งเซลล์ หรือ การเพิ่มจำนวนเซลล์ (cell multiplication)
สิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เดียว เมื่อมีการแบ่งเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ก็จะทำให้เกิดการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศขึ้น สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เมื่อเกิดปฏิสนธิแล้ว เซลล์ที่ได้ก็คือ ไซโกต ซึ่งจะมีการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ให้มากขึ้น


2. การเจริญเติบโต (growth)
ในสิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เดียว การเพิ่มของไซโทพลาซึมก็จัดว่าเป็นการเจริญเติบโต เมื่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิตแบ่งเซลล์ในตอนแรกเซลล์ใหม่ที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่าเซลล์เดิม ในเวลาต่อมาเซลล์ใหม่ที่ได้จะสร้างสารต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ขนาดของเซลล์ใหม่นั้นขยายขนาดขึ้น ซึ่งจัดเป็นการเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งจัดเป็นการเจริญเติบโตด้วยเช่นกัน

3. การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ (cell differention)

สิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เดียวก็มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ เหมือนกัน เช่น มีการสร้างเซลล์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี เช่น การสร้าง เอนโดสปอร์ ของแบคทีเรียในพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินก็มี เช่น การสร้างเซลล์พิเศษซึ่งเรียกว่า เฮเทอโรซิสต์ (heterocyst) มีผนังหนาและสามารถจับแก๊สไนโตรเจนในอากาศเปลี่ยนเป็นสารประกอบไนโตรเจนที่มีประโยชน์ต่อเซลล์ของสาหร่ายชนิดนั้นๆ ได้

สิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์ทางเพศ เมื่อไข่และอสุจิผสมกันก็จะได้เซลล์ใหม่ คือ ไซโกต ซึ่งมีเพียงเซลล์เดียว ต่อมาไซโกตจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์ให้มากขึ้น เซลล์ใหม่ๆ ที่ได้จะเปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ กัน เช่น
- เซลล์กล้ามเนื้อทำหน้าที่ในการหดตัวทำให้เกิดการเคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหว

- เซลล์เม็ดเลือดแดงทำหน้าที่ลำเลียงแก๊สออกซิเจน
- เซลล์ประสาททำหน้าที่ในการนำกระแสประสาทเกี่ยวกับความรู้สึกและคำสั่ง
- เซลล์ต่อมไร้ท่อทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เซลล์ภายในร่างกายของเราจะเริ่มต้นมากจากเซลล์เดียวกัน แต่มีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ กันไป เพื่อให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันได้

การเกิดรูปร่างที่แน่นอน (morphogenesis) เป็นผลจากการเพิ่มจำนวนเซลล์ การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ กระบวนการเหล่านี้จะเกิดขึ้น ในระยะเอ็มบริโออยู่ตลอดเวลา มีการสร้างอวัยวะต่างๆ ขึ้น อัตราเร็วของการสร้างในแต่ละแห่ง บนร่างกาย จะไม่เท่ากัน ทำให้เกิดรูปร่างของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดขึ้นโดยที่สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีแบบแผนและลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งถูกควบคุมโดยจีนบนโครโมโซมของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ

การวัดการเติบโต (measurement of growth)
เป็นการวัดขนาดที่เพิ่มมากขึ้นทำได้หลายวิธี คือ


1. การวัดน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
หรือการหามวลของมีชีวิตที่เพิ่มขึ้น การวัดน้ำหนักเป็นเกณฑ์ที่สำคัญที่ใช้ในการวัดการเติบโต เพราะการที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เนื่องมากจากเซลล์ของร่างกายเพิ่มมากขึ้นหรือมีการสร้างและสะสมของสารต่างๆ ภายในเซลล์และร่างกายมากขึ้น การเพิ่มของน้ำหนักจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอัตราการเติบโต จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้ ในการวัดการเติบโตมากกว่าเกณฑ์อื่นๆ

2. การวัดความสูงที่เพิ่มขึ้น
ความสูงที่เพิ่มขึ้นอาจไม่เป็นอัตราส่วนกับมวลหรือน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการวัดความสูงจึงเป็นการคาดคะเนการเติบโตเท่านั้น

3. การวัดปริมาตรที่เพิ่มขึ้น
ปริมาตรที่เพิ่มขึ้นมักจะสัมพันธ์กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น แต่การหาปริมาตรจะมีความยุ่งนากและลำบากกว่าการหาน้ำหนักจึงไม่ค่อยนิยมใช้กันมากนัก

4. การนับจำนวนเซลล์ที่เพิ่มขึ้น
การนับจำนวนเซลล์จะใช้กับสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กๆ ได้ เช่น การเพิ่มจำนวนเซลล์ของสาหร่าย ไม่นิยมใช้กับสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ๆ

เส้นโค้งของการเจริญเติบโต (growth curve)


เส้นโค้งที่แสดงการเติบโตอาจจะวัดออกมาเป็นหน่วยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยเวลาที่เปลี่ยนไป หรือหน่วยความสูงที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยเวลาที่เปลี่ยนไป สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะมี เส้นโค้งการเจริญเติบโตเป็นรูปตัว S หรือ sigmoid curve เสมอ
เส้นโค้งการเติบโตแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ คือ

1. ระยะเริ่มต้น
เป็นระยะที่สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นเริ่มการเติบโต ในระยะนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ เส้นโค้งการเติบโตจึงมีความชันน้อย

2. ระยะเติบโตอย่างรวดเร็ว
เป็นระยะที่ต่อจากระยะแรกโดยที่สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นจะมีการเพิ่มจำนวนเซลล์มีการสร้างสารต่างๆ สะสมในเซลล์มากขึ้นทำให้น้ำหนักหรือความสูงหรือจำนวนเซลล์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนโค้งการเติบโตจึงชันมากกว่าระยะอื่นๆ

3. ระยะคงที่
เป็นระยะที่มีการเติบโตสิ้นสุดแล้ว ทำให้น้ำหนัก ความสูงหรือขนาดของสิ่งมีชีวิต ไม่เพิ่มขึ้นและค่อนข้างจะคงที่อยู่อย่างนั้นตลอดไป

4. ระยะสิ้นสุด
เมื่อสิ่งมีชีวิตเติบโตถึงที่สุดแล้ว และถ้าปล่อยเวลาต่อไปอีกก็จะถึงระยะเวลาที่ร่วงโรยเสื่อมโทรมในที่สุดก็จะตายไป

ในสัตว์พวกที่มีโครงร่างแข็งนอกตัว (exoskeleton) จะมีแบบแผนของการเติบโตแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป เช่น มวนน้ำชนิดหนึ่ง จะมีแบบแผนแบบขั้นบันได

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น